ในยุคปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศแปรผันอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำมาสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิต นี่คือสิ่งทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว รวมถึงภาคธุรกิจที่หากตระหนักและเคลื่อนไหวใส่ใจในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญและยังเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนอีกด้วย finbiz by ttb จึงขอชวนผู้ประกอบมาทำความเข้าใจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้องตรงจุด และเสริมภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งให้กับองค์กร
การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
โลกได้เผชิญกับการสูญพันธุ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปะทุของภูเขาไฟที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และอีก 1 ครั้งจากการชนโลกของอุกกาบาตขนาดใหญ่ และในครั้งที่โลกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ซึ่งมีอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 100-1,000 เท่า และมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของสภาพแวดล้อมเร็วที่กว่าการทำนายโดยสถิติที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วด้วยอัตราความเร่งที่สูงกว่าอดีต ด้วยสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเฉพาะธรรมชาติ แต่ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน ธุรกิจจึงเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงและกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อความยั่งยืนของโลกคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนในธุรกิจมากขึ้น ผลสำรวจจาก Nielsen ในปี 2023 พบว่า 73% ของผู้บริโภคทั่วโลกยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่มองว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่ “ตัวเลือก” แต่เป็น “มาตรฐาน” ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ลดการใช้พลาสติกหรือมีการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มนี้ อาจเสี่ยงเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่นำเสนอมูลค่าด้านความยั่งยืนได้ดีกว่า
ความสมดุลระหว่าง ต้นทุน กำไร และความเสี่ยง คือหัวใจความยั่งยืนของธุรกิจ
การผสมผสานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ได้แค่ในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่ยังช่วยลดต้นทุนระยะยาว และรักษาสมดุลของต้นทุน กำไร และความเสี่ยง เช่น การใช้พลังงานทดแทนหรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การยังเป็นเกราะป้องกันจากความเสี่ยงที่เกิดจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นความยั่งยืนทั้งของโลกและของธุรกิจ
ก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิด ที่ธุรกิจต้องลดให้ได้
ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) มีเทน (CH₄) และไนตรัสออกไซด์ (N₂O) มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มอุณหภูมิโลก หากธุรกิจสามารถวิเคราะห์และลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล ก็จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว โดยการคิดปริมาณก๊าซเรือยกระจกขององค์กรจะคิดจากหน่วย “คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า" เป็นหน่วยที่นำมาใช้ชี้วัดก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดว่าเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเท่าไหร่
- คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) คิดเป็น 74% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง
- มีเทน (CH₄) มีศักยภาพกักเก็บความร้อนมากกว่า CO₂sub> ถึง 25 เท่า เกิดจากภาคเกษตรกรรมและการทิ้งขยะ
- ไนตรัสออกไซด์ (N₂O) กักเก็บความร้อนมากกว่า CO₂ ถึง 298 เท่า มาจากปุ๋ยเคมีและการผลิตอุตสาหกรรม
- กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออไรคาร์บอน (PFCs) เกิดจากกระบวนการถลุงอะลูมิเนียม และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต
- กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น
- ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) อยู่ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) นำมาใช้เป็นฉนวนไฟฟ้าจากอุปกรณ์สวิตช์ไฟฟ้าแรงสูง
ก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตขององค์กร
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรสามารถแบ่งเป็น 3 Scope ที่ทุก Scope ล้วนมีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแห่งพบว่าการปล่อยก๊าซใน Scope ที่ 1 และ 2 น้อย แต่มี Scope 3 ในสัดส่วนที่สูงมาก ดังนั้น หากธุรกิจทำความเข้าใจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละ Scope จึงจะดูแลได้อย่างตรงจุด
- Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง (Direct Greenhouse Gas Emissions) การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมของธุรกิจเอง หลักจำง่าย ๆ คือ มีควันออกมาจากปล่อง มีการรั่วออกมาโดยตรง
- Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา (Indirect emissions from purchased energy) การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ที่องค์กรของเราซื้อหรือนำเข้ามาโดยที่องค์กรไม่ได้ผลิตเอง มีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน ความเย็น และ อากาศอัด
- Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other indirect emissions) การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ เช่น จากซัพพลายเชนของธุรกิจ
Carbon footprint for Organization คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร สิ่งที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจ
การจัดการคาร์บอนองค์กร เช่น การตั้งเป้า Net Zero หรือการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ ไม่เพียงสร้างความยั่งยืนในสายตาของผู้บริโภค แต่ยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุนที่มองหาองค์กรที่มีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน บริษัทใหญ่หลาย ๆ บริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นให้เป็นศูนย์ภายในปีที่กำหนดเป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งของธุรกิจในตลาดโลก ธุรกิจที่ตื่นตัวและเร่งใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นในระยะสั้นให้ผู้บริโภค แต่ยังช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในอนาคตที่ยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคง
7 ขั้นตอนสู่การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดขอบเขต
- 1.1 กำหนดขอบเขตองค์กร มี 2 แบบ ต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่งในการรายงาน ดังนี้
- แบบที่ 1 แบบควบคุม (Control Approach) แบ่งเป็นควบคุมทางการเงิน (Financial control) และควบคุมการดำเนินงาน (Operational control)
- แบบที่ 2 แบบปันส่วนตามกรรมสิทธิ์ (Equity Share) คือไม่ได้ควบคุม แต่ถือหุ้นร่วมทุนอย่างเดียว
- 1.2 กำหนดขอบเขตการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 Scope ตามที่กล่าวไปข้างต้น
ขั้นตอนที่ 2 การระบุกิจกรรม คือ การพิจารณาถึงกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในขอบเขตและ Value chain ขององค์กรผู้รายงาน
ขั้นตอนที่ 3 การเก็บข้อมูลกิจกรรม คือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและแหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจก
ขั้นตอนที่ 4 การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเลือกค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission factors) เป็นการระบุค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม และคำนวณจากสมการนี้
CO2e |
= Activity Data X Emission Factor หรือ |
ปริมาณก๊าซเรือนกระจก |
= ข้อมูลกิจกรรม X ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
หมายเหตุ ค่า Emission Factor สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ อบก. |
ขั้นตอนที่ 5 วิเคราะห์ข้อมูล
การประเมินคุณภาพข้อมูล (Inventory Quality) เป็นการประเมินข้อมูลกิจกรรมและค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล
การประเมินสาระสำคัญ (Materiality) การจัดลำดับความสำคัญ ของกิจกรรมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความเกี่ยวข้องและนัยยะสำคัญขององค์กร
ขั้นตอนที่ 6 รายงานและทวนสอบ
การรายงาน (Reporting) เป็นการจัดทำรายงานเพื่อแสดงแหล่งที่มาและกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีรูปแบบการจัดทำรายงานไว้ให้
การทวนสอบ (Verification) เป็นการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลในแง่ของความตรงประเด็น ความสมบูรณ์ ความไม่ขัดแย้งกัน ความถูกต้องและความโปร่งใส
ขั้นตอนที่ 7 ขึ้นทะเบียน
หลังจากผ่านการทวนสอบแล้ว ผู้ตรวจสอบจะออกรายงานการตรวจสอบ รายงานการทวนสอบ และถ้อยแถลงส่งมาที่ อบก. ส่วนองค์กรมีหน้าที่กรอกใบสมัครขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดย อบก. จะพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ออก Certificate เพื่อรับรองว่าองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ในแต่ละสโคป
การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพื่อให้องค์ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง และจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ถูกต้องตรงจุด อันจะส่งผลระยะยาวกับความยั่งยืนของโลกและธุรกิจ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืนที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของโลกและธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา :
- งานสัมมนา “ttb l Business Green Transition Master Class”
- เดอะ คลีเอจี้
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME